คลินิกเวชกรรม สวท ศาสนา กฎหมาย และการยุติการตั้งครรภ์ เคยสงสัยหรือไม่ว่าเพราะเหตุใดการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระ การเผยแพร่เนื้อหาในรูปแบบ only fans และการยุติการตั้งครรภ์อย่างเสรีจึงเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมไทยแม้กำลังเผชิญหน้ากับคำถามด้านความสอดคล้องกับวิถีชีวิตและคุณค่าของปัจเจกชนอันหลากหลายในยุคปัจจุบัน เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นประจักษ์พยานที่แสดงว่ากฎหมายไทยถูกผูกโยงเข้ากับคุณค่าเชิงศีลธรรมของพุทธศาสนาในทางเดียวกับที่กลุ่มประเทศมุสลิม (เช่น ซาอุดีอาระเบีย บรูไนดารุสลาม อิหร่าน ฯลฯ) และที่ประเทศคริสต์คาทอลิกอย่างนครรัฐวาติกัน นำหลักศาสนามาบัญญัติเป็นกฎหมายบังคับใช้ภายในรัฐของตน แม้กระนั้น การที่วิถีชีวิตมนุษย์ยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากจากอดีตมาก ทั้งมีความสลับซับซ้อน ลื่นไหล ตามประสบการณ์ทางสังคมและปฏิกิริยาที่แต่ละคนมีต่อประสบการณ์นั้น ๆ แนวคิดฆราวาสนิยม (Secularism) จึงก่อกำเนิดขึ้นบนพื้นฐานแห่งความมีอิสระในการดำเนินกิจกรรมของรัฐ โดยไม่ตกภายใต้อิทธิพลของคุณค่าเชิงศีลธรรมหรือความเชื่อทางศาสนาใด ๆ ย้อนกลับไปในยุคแห่งการตื่นรู้ (Age of Enlightenment) มนุษย์เริ่มมีข้อโต้แย้งต่อคุณค่าเชิงศีลธรรมที่มีบ่อเกิดจากศาสนาคริสต์ เพราะคุณค่าดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของความศรัทธาในพระเจ้า ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตมนุษย์ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ (เช่นการผลิตสินค้ารูปแบบเดียวกันจำนวนมากเพื่อใช้ทางการค้า) มีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกัน สถาบันคริสตจักรถูกมองว่าเป็นเครื่องมืออันฉ้อฉลของชนชั้นสูงในการแสวงหาประโยชน์จากชนชั้นแรงงานและเป็นกลไกผูกขาดอำนาจทางการเมืองมิให้กระจายไปสู่ชนชั้นอื่น ๆ เมื่อมนุษย์ร่วมกันปลดแอกตนเองจากการถูกความเชื่อทางศาสนาชี้นำคุณค่าความถูก-ผิด ดี-เลว และหันไปแสวงหาอิสรภาพในการแสดงความต้องการอันหลากหลาย แนวคิดฆราวาสนิยมจึงก่อกำเนิดขึ้นพร้อมแสดงออกผ่านระบบการเมืองและกฎหมาย อันเป็นกลไกควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขบนพื้นฐานของการสนับสนุนความหลากหลายส่วนบุคคล สำหรับการยุติการตั้งครรภ์ (Abortion) เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงมาอย่างยาวนานทั้งในมิติกฎหมายและความเหมาะสมด้านศีลธรรม โดยในอดีตค่านิยมหลักของสังคมต่าง ๆ มองว่าการยุติการตั้งครรภ์เป็นการคร่าชีวิตหรือการตัดโอกาสในการเกิดของมนุษย์คนหนึ่ง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ผิดหลักศาสนาและไม่อาจยอมรับในทางกฎหมายได้ กรณีตัวอย่างของการห้ามการยุติการตั้งครรภ์บนพื้นความเชื่อทางศาสนาพบได้ในประเทศฝรั่งเศสและไทย กล่าวคือ ในยุคก่อนหน้าขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิการยุติการตั้งครรภ์ การกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดทางอาญาในฝรั่งเศสและมีโทษถึงประหารชีวิต จากมุมมองที่ว่าการเกิดและตายของมนุษย์มีพระเจ้าเป็นผู้กำหนด มนุษย์ด้วยกันเองไม่อาจก้าวล่วงได้ ส่วนในประเทศไทย ระยะเริ่มแรกการยุติการตั้งครรภ์ถือเป็นอาชญากรรมที่มีโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา ยกเว้นกรณีที่ผู้ตั้งครรภ์มีปัญหาด้านสุขภาพหรือถูกกระทำชำเรา แม้ต่อมาจะมีการขยายเหตุยกเว้นความผิดให้ครอบคลุมปัญหาสุขภาพจิตและยินยอมให้ผู้มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยุติการตั้งครรภ์ได้ตามลำดับ กระนั้นก็ยังเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่ากฎหมายไทยได้รับอิทธิพลเชิงคุณค่าจากศาสนาพุทธที่ถือว่าการยุติการตั้งครรภ์เป็นการทำอันตรายต่อชีวิตของผลผลิตจากการปฏิสนธิในมนุษย์ ด้วยเหตุนี้รัฐไทยจึงเข้าควบคุมมิให้การยุติการตั้งครรภ์เกิดขึ้นตามความประสงค์ของผู้ตั้งครรภ์อย่างอิสระ แม้ว่าการควบคุมที่เกิดขึ้นจะสวนทางกับแนวคิดสิทธิมนุษยชนอันมีสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์เป็นส่วนหนึ่งก็ตาม ในยุคที่มนุษย์ตระหนักถึงสิทธิในเนื้อตัว ร่างกาย และความหลากหลายในวิถีชีวิตของปัจเจกบุคคลเช่นปัจจุบัน กฎหมายหรือกลไกอื่น ๆ ของรัฐที่จำกัดสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ถูกมองว่าเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล เพราะเป็นการผลักภาระให้ผู้หญิงต้องแบกรับผลกระทบเป็นหลัก กล่าวคือ ในเบื้องต้น พวกเธอต้องเผชิญกับผลข้างเคียงทางสุขภาพจากการใช้ยาคุมกำเนิด เช่น อาการปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก น้ำหนักเพิ่มสูง ประจำเดือนหลั่งผิดปกติ ฯลฯ ทั้งยังถูกสังคมบางส่วนตีตราจากค่านิยมการรักนวลสงวนตัวและการเข้าถึงอุปกรณ์คุมกำเนิดที่เป็นไปได้ยากในบริบทที่มีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ต่อมาหากมีการตั้งครรภ์ พวกเธอยังต้องมีความพร้อมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตที่เอื้อต่อการบำรุงครรภ์กับการเลี้ยงดูบุตรภายหลังคลอด หากขาดความพร้อมดังกล่าวสิ่งที่ได้รับผลกระทบย่อมมิใช่เพียงพัฒนาการของเด็กเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตของผู้ตั้งครรภ์อีกด้วย ในบริบทที่ภาระอนามัยเจริญพันธุ์ตกแก่ผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่และการยุติการตั้งครรภ์อย่างเสรีไม่ได้รับการรับรองทางกฎหมาย ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยจึงถูกผลักใสให้ใช้บริการ ทำแท้งโดยบุคคลที่มิใช่บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งบ่อยครั้งได้นำไปสู่ผลร้ายแรงด้านสุขภาพของพวกเธอ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเกิดกรณีเช่นว่า หญิงผู้รับบริการยุติการตั้งครรภ์นอกกฎหมายมักหลีกเลี่ยงการรักษาเพราะเกรงว่าจะตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาจากการยุติการตั้งครรภ์ของตน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่ากฎหมายที่มีคุณค่าเชิงศีลธรรมทางศาสนาเป็นส่วนประกอบอาจบั่นทอนคุณภาพชีวิตของมนุษย์ได้เป็นอย่างมาก และการยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทยก็เป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนสำหรับคำกล่าวนี้ ด้วยเหตุนี้ การประยุกต์ใช้แนวคิดฆราวาสนิยมกับระบบกฎหมายจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจของสังคม แม้อาจมีข้อโต้แย้งว่ากฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับคุณค่าของสังคมจะก่อให้เกิดความขัดแย้งจากการที่กฎหมายนั้นไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน แต่ต้องไม่ลืมว่าคุณค่าเชิงศาสนามิใช่คุณค่าแบบเดียวที่ปรากฏในสังคม และเรื่องน่าเศร้าที่เกิดขึ้นกับกรณีการยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทยบ่อยครั้งก็เป็นผลมาจากคุณค่าเชิงศาสนาที่มีสภาพบังคับ นอกจากนี้ การที่แนวคิดฆราวาสนิยมมิได้เป็นการต่อต้านศาสนา หากส่งเสริมให้ปัจเจกบุคคลสร้างระบบคุณค่าของตนขึ้นบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นที่มีอยู่อย่างเท่าเทียม ย่อมทำให้วิถีชีวิตอันหลากหลายของมนุษย์ได้รับการยอมรับจากสังคมมากยิ่งขึ้น นำไปสู่ความเท่าเทียมเชิงโอกาส ความสงบสุข และการส่งเสริมความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนต่อไปในอนาคต __________________________ รายการอ้างอิง นฤพล ด้วงวิเศษ. (n.d.). Anthropology of Secularism. Anthropology of Secularism | ฐานข้อมูลคำศัพท์ - ทางมานุษยวิทยา. https://anthropology-concepts.sac.or.th/glossary/188 ประชาไท Prachatai.com. https://prachatai.com/journal/2017/11/74086 The Business Standard. (2021, September 3). Countries that follow Sharia law. The Business Standard. https://www.tbsnews.net/world/countries-follow-sharia-law-297286 concepts.sac.or.th/glossary/188 The101.world. (2022, June 21). นิติศาสตร์คนพุทธ (2). The 101 World. https://www.the101.world/law-and-religion-2/