เสียงจากผู้ยุติการตั้งครรภ์…และทางเลือก

“มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกินสิบสองสัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

“มาตรา 305 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 301 หรือมาตรา 302 เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้กระทำไม่มีความผิด

(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น
(2) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควรเชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง
(3) หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ
(4) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกินสิบสองสัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์
(5) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกินสิบสองสัปดาห์ แต่ไม่เกินยี่สิบสัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” (สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, 2564)

จากส่วนหนึ่งของประมวลกฎหมายอาญาฉบับปัจจุบันข้างต้น อาจกล่าวได้ว่าสถานการณ์ด้านสิทธิการยุติการตั้งครรภ์ของไทยมีความก้าวหน้ามากขึ้นจากยุคอดีตที่การยุติการตั้งครรภ์เคยถูกจัดเป็นอาชญากรรมโดยสิ้นเชิง ท่ามกลางการถกเถียงเรื่องความเหมาะสมและขอบเขตของการยุติการตั้งครรภ์โดยกลุ่มผู้ยึดถือกรอบคุณค่าที่ถูกกำหนดจากความเชื่อทางศาสนาและกลุ่มผู้เชื่อมั่นเสรีภาพในการดำรงชีวิตของมนุษย์ สิ่งที่ทุกคนไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือเสียงแห่งความทุกข์ทรมานที่เปล่งออกมาอย่างต่อเนื่องจากหญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ผู้หวังให้การยุติการตั้งครรภ์เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ให้กับพวกเธอ เสียงดังกล่าวไม่เพียงเกิดขึ้นจากกระบวนการทางการแพทย์หากบ่อยครั้งยังมีจุดเริ่มต้นจากค่านิยมดั้งเดิมของสังคมไทยที่การยุติการตั้งครรภ์ไม่ได้รับการยอมรับมากนัก

“การท้องแล้วต้องทำแท้งไม่ได้สนุกนะ มันไม่เคยสนุก”

“หลายครั้งเราคิดนะว่า ใช่สิ สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับคุณ คุณไม่เคยต้องมาเจ็บปวดแบบเรา ต้องรอให้วันใดวันหนึ่งคุณหรือคนใกล้ตัวของคุณเจ็บปวดแบบเราเหรอ”

“เราเจ็บปวดขนาดนี้ แต่ทำไมเราไม่มีตัวตนอยู่ตรงนั้นเลย ไม่มีใครสนใจเราเลย มันไม่แฟร์เลยสักนิดเดียวที่เราต้องเผชิญหน้ากับสิ่งนี้คนเดียว” (ภัคจิรา มาตาพิทักษ์, 2566)

เสียงของพวกเธอเหล่านี้นอกจากจะเป็นเครื่องยืนยันว่า “ไม่มีใครตั้งใจท้องเพื่อไปทำแท้ง” แล้ว ยังเป็นเครื่องสะท้อนว่ากลุ่มผู้ไม่ยอมรับในสิทธิการยุติการตั้งครรภ์กำลังมองข้ามบางสิ่งไป สิ่งที่ถูกมองข้ามนั้นได้แก่สิทธิในการใช้ชีวิตอย่างปกติสุขและสิทธิในการเข้าถึงบริการการยุติการตั้งครรภ์ของหญิงผู้ตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ แม้ในปัจจุบันกฎหมายจะรองรับสิทธิการยุติการตั้งครรภ์มากขึ้นก็ตาม ความยากลำบากด้านการเข้าถึงและค่าใช้จ่ายสำหรับบริการการยุติการตั้งครรภ์ส่วนหนึ่งสะท้อนผ่านเสียงดังนี้

“เรากังวลเรื่องค่าใช้จ่ายมาก…เพราะค่าใช้จ่ายทำแท้งในอายุครรภ์ระยะเริ่มต้นจะอยู่ที่ 5,000 - 10,000 บาท เท่าที่หาข้อมูลมาทำที่ไหนก็มีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นเท่านี้ และตอนนั้นเราไม่ได้มีเงินมาก เลยกลายเป็นความกังวลหลักที่ทำให้เราตัดสินใจได้ล่าช้า”

“ตอนที่จะไปทำแท้งเรามีอายุครรภ์สูงแล้ว…ด้วยอายุครรภ์ที่สูงก็ยิ่งทำให้กังวลเรื่องความปลอดภัยไปอีก สุดท้ายเราต้องใช้เงินแทบจะก้อนสุดท้ายที่มีเพื่อเข้ารับบริการ” (ภัคจิรา มาตาพิทักษ์, อ้างแล้ว)

เมื่อเสียงเหล่านี้ได้รับการกล่าวถึงในสังคมเพิ่มขึ้น ผู้หวังดีบางส่วนอาจเสนอให้หญิงผู้รับบริการการยุติการตั้งครรภ์พิจารณาใช้ยายุติการตั้งครรภ์ เช่น ไมเฟพริสโตน (Mifepristone) และไมโซพรอสทอล (Misoprostol) อย่างไรก็ตาม ยาทั้งสองชนิดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง วิงเวียนศีรษะ และกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทั้งยังมีข้อควรระวังด้านสุขภาพที่ผู้ต้องการยุติการตั้งครรภ์ด้วยวิธีการดังกล่าวจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาก่อนการเริ่มต้นใช้ยาอีกด้วย กล่าวคือ หากเป็นผู้ที่มีภาวะเลือดออกไม่หยุด ตั้งครรภ์นอกมดลูก เป็นโรคเลือด โรคปอด โรคหอบหืด โรคไต หรือโรคต่อมหมวกไตขั้นรุนแรงแล้วไม่ควรใช้ยาเหล่านี้ (สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ, 2565) และถึงแม้มิได้มีข้อจำกัดด้านสุขภาพดังกล่าว ผู้ต้องการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยาก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มต้นกระบวนการเช่นกัน ไม่ควรซื้อยามาใช้โดยปราศจากการดูแลของแพทย์ ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในสุขภาพของผู้ต้องการยุติการตั้งครรภ์เอง

นอกเหนือจากทางเลือกที่ได้กล่าวมาแล้ว บริการคลินิก สวท เวชกรรม ของสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย (สวท) ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพราะบริการดังกล่าวครอบคลุมตั้งแต่บริการให้คำปรึกษาด้านการวางแผนครอบครัว บริการจำหน่ายเวชภัณฑ์การคุมกำเนิด การตรวจสุขภาวะทางอนามัยเจริญพันธุ์ ไปจนถึงการยุติการตั้งครรภ์ด้วยค่าใช้จ่ายประมาณ 3,500 – 6,000 บาท (ไม่รวมค่าบริการทางการแพทย์อื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการยุติการตั้งครรภ์) ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเข้ารับบริการคลินิก สวท เวชกรรม ได้ ณ คลินิกจำนวน 9 แห่ง ทั่วประเทศ ดังนี้

1. คลินิกเวชกรรม สวท ภูเก็ต
2. คลินิกเวชกรรม สวท หาดใหญ่
3. คลินิกเวชกรรม สวท บางเขน
4. คลินิก สวท เวชกรรม ปิ่นเกล้า
5. คลินิกเวชกรรม สวท อุบลราชธานี
6. คลินิกเวชกรรม สวท ขอนแก่น
7. คลินิก สวท เวชกรรม ลำปาง
8. คลินิกเวชกรรม สวท เชียงราย และ
9. คลินิก สวท เวชกรรม เชียงใหม่

จากทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าแม้สถานการณ์สิทธิการยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทยจะได้รับการพัฒนาจากอดีต แต่ผู้ประสงค์ใช้สิทธินั้นยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคนานาประการในทางปฏิบัติ ในที่นี้การส่งเสริมสิทธิการยุติการตั้งครรภ์ระยะยาวคงมิใช่เพียงการแก้ไขกฎหมาย หากแต่ยังหมายรวมถึงการให้ความสำคัญกับเสียงของหญิงผู้ตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์เพื่อส่งเสริมทัศนคติเชิงบวกต่อการยุติการตั้งครรภ์ของสังคมและเพิ่มการเข้าถึงบริการการยุติการตั้งครรภ์ในคนทุกกลุ่มอีกด้วย เช่นนี้แล้วหญิงทุกคนย่อมมีโอกาสและทางเลือกในการดูแลภาวะอนามัยเจริญพันธุ์เพิ่มมากขึ้น สอดรับกับการเติบโตของแนวคิดสิทธิมนุษยชนนั่นเอง

สวท สนับสนุนให้ผู้หญิงทุกคนเข้าถึงบริการการยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างถูกกฏหมายและปลอดภัย เพื่อตอบรับกับภารกิจนี้ สวทจึงได้จัดบริการการยุติการตั้งครรภ์ด้วยตนเองผ่านระบบการแพทย์ทางไกล ซึ่งเป็นบริการใหม่ที่สะดวก ไม่ต้องเดินทาง รักษาความลับ และมีความเป็นส่วนตัวให้กับผู้ใช้บริการ โดยมีทีมแพทย์และพยาบาลให้การดูแลอย่างใกล้ชิดเสมือนมาติดต่อใช้บริการทึ่คลินิก และสามารถขอคำปรึกษาได้ตลอดระยะเวลาในการดำเนินการยุติการตั้งครรภ์ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม คลิก ppat.clinic หรือ โทร 1452