คุกไทย: มุมอับของสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์และข้อเสนอแห่งการพัฒนา

เมื่อวงสนทนามีการเอ่ยคำว่า “คุก” หรือ “เรือนจำ” สมาชิกผู้ร่วมวงคงจินตนาการถึงภาพแห่งความทุกข์ยาก การขาดไร้อิสรภาพ และสถานที่อันเป็นแหล่งรวมอาชญากรผู้ไม่เป็นที่ต้อนรับของสังคมปกติ แม้จินตภาพแบบนี้จะมิใช่เรื่องเหนือความคาดหมายแต่ก็เป็นความปกติที่น่ากังวลใจอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนและฑัณฑวิทยาร่วมสมัย ด้วยเหตุที่สุขภาวะหรือคุณภาพในการดำรงชีวิตเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนไม่ว่าจะใช้ชีวิตอยู่ ณ ที่แห่งใด การลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยการจำกัดอิสรภาพจึงไม่ควรเกินเลยไปจนถึงการสร้างข้อจำกัดให้วิถีชีวิตของผู้ต้องโทษเป็นไปโดยยากลำบากเพราะการจำกัดอิสรภาพเพียงลำพังก็เป็นการลงโทษโดยตัวเองแล้ว ในขณะเดียวกันสิ่งแวดล้อมภายในเรือนจำก็เป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งที่สามารถกำหนดคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังรวมถึงโอกาสในการพัฒนาตนเองภายหลังการพ้นโทษได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ภาพจำเชิงลบของคุกจึงเป็นกระจกบานหนึ่งซึ่งสะท้อนความเป็นไปภายในโลกหลังกำแพงที่กำลังบอกสังคมภายนอกว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นแดนสนธยาที่ต้องการการพัฒนา ทั้งนี้ มิใช่เพียงเพื่อสมาชิกของพื้นที่แห่งนั้นแต่เพื่อเป็นหลักประกันคุณภาพชีวิตของสังคมโดยรวมด้วย

ท่ามกลางความยากลำบากด้านต่าง ๆ ที่ชาวคุกต้องประสบตลอดระยะเวลาการถูกจองจำ ปัญหาด้านสิทธิและสุขภาวะทางเพศเป็นประเด็นหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงเพิ่มขึ้นในช่วงไม่นานมานี้ เหตุการณ์ผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศสภาพในเรือนจำถูกบังคับให้ตัดผมสั้นเกรียนเหมือนผู้ต้องขังชายและถูกตัดสิทธิการรับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจน ปัญหาการขาดแคลนผ้าอนามัยและข้อจำกัดด้านการผดุงครรภ์ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเลี้ยงดูเด็กติดผู้ต้องขังเท่าที่ควร เหล่านี้ล้วนเป็นฉากทัศน์ที่สะท้อนว่า “สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์” ในเรือนจำเป็นเรื่องที่ต้องได้รับความสำคัญเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะสิทธิดังกล่าวไม่เพียงครอบคลุมสุขภาวะทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ของมนุษย์รวมถึงเสรีภาพในการตัดสินใจวางแผนครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนด้วยเช่นกัน เมื่อคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังไม่สอดคล้องกับสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์จึงส่งผลให้ความชอบธรรมในทางสิทธิมนุษยชนและทัณฑวิทยายุคใหม่ขาดหายไป ซึ่งการฟื้นฟูพฤติกรรมผ่านการให้โอกาสผู้ต้องขังได้ใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาตนเองในระยะยาวย่อมมิใช่สิ่งเดียวกันกับการชี้นำอัตลักษณ์ทางเพศและการล่วงล้ำเนื้อตัวร่างกายของผู้ต้องขังในกระบวนการตรวจยึดสิ่งของต้องห้ามภายในเรือนจำเป็นแน่

จากคำบอกเล่าของผู้ต้องขัง การละเมิดสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์เริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการรับตัวสมาชิกใหม่ของโลกหลังกำแพง กล่าวคือ ในบางช่วงเวลาผู้ต้องขังแรกเข้าจะถูกตรวจยึดสิ่งเสพติด อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งต้องห้ามประเภทอื่น ๆ ด้วยการใช้มือสอดเข้าไปในอวัยวะเพศ (สำหรับผู้ต้องขังเพศหญิง) หรือรูทวารหนัก (สำหรับผู้ต้องขังเพศชาย) ก่อนจะถูกสั่งให้เปิดเผยร่างกายในที่ที่ไม่มิดชิดเท่าที่ควรเพื่อยืนยันการปราศจากสิ่งของต้องห้าม  จากนั้นระหว่างการใช้ชีวิตในเรือนจำ ความแออัดของสถานที่และข้อจำกัดของทรัพยากรเรือนจำทำให้ผู้ต้องขังต้องทำกิจวัตร ส่วนบุคคลแบบเร่งรีบ มีโอกาสจำกัดในการชำระล้างอวัยวะภายในร่างกายและในการรับการรักษาด้วยมาตรฐานเทียบเท่าสังคมภายนอกเมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้น ในขณะเดียวกันการที่เรือนจำจำนวนมากถูกออกแบบมาเพื่อรองรับผู้ต้องขังเพศชาย ผู้ต้องขังเพศหญิงโดยเฉพาะผู้มีบทบาทเป็นแม่ลูกอ่อนควบคู่และผู้ต้องขังข้ามเพศจึงอยู่ในกลุ่มที่ถูกละเมิดสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์มากที่สุด เห็นได้จากอาหารบำรุงครรภ์ที่รัฐจัดให้ถูกตีกรอบด้านงบประมาณ การพักผ่อนสั้น ๆ ภายหลังการคลอดที่โรงพยาบาล เวลาใช้ชีวิตกับลูกที่จำกัดอันเนื่องมาจากภาระงานที่ทางเรือนจำมอบหมายให้ผู้ต้องขัง ตลอดจนการห้ามมิให้ผู้ต้องขังข้ามเพศรับประทานฮอร์โมนเพศตามความสมัครใจ เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การถูกจำกัดสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ที่ผู้ต้องขังหรือผู้ต้องขังแม่ลูกอ่อนต้องเผชิญหลังกำแพงเรือนจำ ไม่ว่าพวกเขาจะมีสถานภาพผู้ต้องขังเด็ดขาดหรือผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีก็ตาม

แม้ประสบการณ์ของผู้ต้องขังที่ได้กล่าวถึงข้างต้นอาจถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ผู้ละเมิดกฎเกณฑ์ของสังคมสมควรได้รับ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง คุณภาพชีวิตด้านอนามัยเจริญพันธุ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานภายในเรือนจำนอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้วยังส่งผลกระทบถึงสภาพจิตใจของผู้ต้องขังและพัฒนาการของเด็กติดผู้ต้องขังในระยะยาวด้วย ผลกระทบดังกล่าวน่าสนใจว่าเป็นเงื่อนไขของอัตราการกระทำผิดซ้ำที่เพิ่มสูงขึ้นตามระยะเวลาภายหลังการปล่อยตัวของผู้ต้องขังและกระบวนการกลายเป็นผู้กระทำความผิดของเด็กและเยาวชนผู้เคยเป็นเด็กติดผู้ต้องขังหรือไม่อย่างไร ทั้งยังไม่นับว่าการคุมขังหลายกรณีถูกตั้งคำถามด้านความชอบธรรมและความได้สัดส่วนกับพฤติการณ์จากสังคม ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงเห็นว่าระบบราชทัณฑ์ไทยควรได้รับการพัฒนาตามแนวทางที่หลากหลายภาคส่วนได้นำเสนอไว้ เริ่มต้นจากการจัดจำแนกพฤติการณ์การกระทำความผิดในกรณีต่าง ๆ อย่างละเอียดชัดเจน เพื่อจำกัดให้มาตรการคุมขังถูกใช้เฉพาะกรณีอาชญากรรมร้ายแรงเป็นหลัก จากนั้นจึงพิจารณาปล่อยผู้ต้องขังคดีเล็กน้อยโดยเร็วเพื่อลดความแออัดอันเป็นต้นเหตุของความขาดแคลนทรัพยากรภายในเรือนจำ ควบคู่ไปกับการเพิ่มงบประมาณด้านราชทัณฑ์เพื่อสร้างมาตรฐาน
การปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่และส่งเสริมคุณภาพชีวิตด้านอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้ต้องขัง นอกจากนี้การออกมาตรการจูงใจให้สังคมมีทัศนคติเชิงบวกต่ออดีตผู้ผิดพลาดยังเป็นอีกส่วนสำคัญที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตจากเงื่อนไขต่าง ๆ ให้พวกเขาไม่หวนกระทำผิดซ้ำภายหลังการพ้นโทษ เมื่อเป็นเช่นนี้สังคมไทยก็จะมีความสงบสุขและปลอดภัยมากขึ้นบนพื้นฐานการเคารพในสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์อันเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน

สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย (สวท) ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ดำเนินงานด้านสิทธิทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์มาเป็นเวลากว่า 50 ปี โดยมุ่งส่งเสริมสิทธิทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์เพื่อให้ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดี สวท มีความตั้งใจที่จะพัฒนาพันธมิตรและระดมทรัพยากรร่วมกับองค์กรต่างๆ เพื่อสนับสนุนการให้ความรู้และการเข้าถึงบริการด้านสิทธิทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ขาดโอกาส กลุ่มเปราะบาง กลุ่มชายขอบ กลุ่มที่อยู่ห่างไกล และกลุ่มที่เข้าถึงยาก ภายใต้แนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
หากท่านสนใจโปรดติดต่อ rpd.ppat@gmail.com เพื่อหารือเพิ่มเติม

____________________

รายการอ้างอิง
Thai Publica. (1 กุมภาพันธ์ 2561). “ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ‘เรือนจำต้นแบบ’ข้อกำหนดกรุงเทพ” คืนคนดีสู่สังคม
อย่างยั่งยืน. https://thaipublica.org/2018/02/bangkok-rules-changmai-prison-model/

UNDP Thailand. (20 พฤษภาคม 2562). ชีวิตของผู้ต้องขังข้ามเพศในเรือนจำไทย. Medium.
Voice TV. (7 มีนาคม 2560). คุยกับ 4 ผู้หญิงผ่านคุกในยุค คสช. https://www.voicetv.co.th/read/468315

บริษัท ศรีเมืองการพิมพ์ จำกัด. (มกราคม 2550). สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์หัวใจสำคัญ-Reproductive-Rights-The-Key-to-Women-s-Health.pdf. กรุงเทพมหานคร.
ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล. สังคมเรือนจำจากปากคำนักศึกษาผู้ต้องหาคดีการเมือง. วารสารธรรมศาสตร์ 40, ฉ. 3 (2564): 191-202. http://tujournals.tu.ac.th/thammasatjournal/detailart.aspx?ArticleID=7925

ประชาไท. (8 เมษายน 2566). กสม. เสนอราชทัณฑ์แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิในการใช้ฮอร์โมนสำหรับผู้ต้องขังข้ามเพศ. ประชาไท Prachatai.com. https://prachatai.com/journal/2023/04/103556

สมคิด พุทธศรี, & กานต์ธีรา ภูริวิกรัย. (ม.ป.ป.). ผู้หญิง แม่ และเด็ก: “เหยื่อ” ที่ระบบยุติธรรมไทยมองไม่เห็น – ชลธิช
ชื่นอุระ. Thailand Institute of Justice. https://knowledge.tijthailand.org/article/detail/3

Loading